เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ
ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม
บุรีรัมย์เมืองแห่งความรื่นรมย์ตามความหมายของชื่อเมือง
เป็นเมืองแห่งปราสาทหิน ดินแดนแห่งอารยธรรมขอมโบราณ
ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถยนต์ประมาณ ๔๑๐ กิโลเมตร
จังหวัดบุรีรัมย์มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๐,๓๒๑
ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๒๑ อำเภอ และ ๒ กิ่งอำเภอ
ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือ ปราสาทขอมน้อยใหญ่กว่า ๖๐ แห่ง
ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไป
อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของบุรีรัมย์มาแต่ครั้งอดีตกาล
รวมทั้งได้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผาภาชนะดินเผาสมัยขอม
กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘
หลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบุรีรัมย์เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
โดยเป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมา
และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
โดยบุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ.
๒๔๗๖
ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่
จึงได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดบุรีรัมย์มาจนถึงปัจจุบันนี้
อาณาเขต
ทิศเหนือ
ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น
และจังหวัดมหาสารคาม
ทิศใต้
ติดต่อกับจังหวัดสระแก้วและเทือกเขาพนมมาลัย ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างไทpกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันตก
ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา
เทศกาลงานประเพณี
นอกจากวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่
ชาวบุรีรัมย์ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง เช่น เทศกาลเดือน ๕
มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำให้ผู้สูงอายุ มีการละเล่นพื้นบ้าน
เช่น สะบ้า ชักเย่อ ฯลฯ บางท้องถิ่น เช่น อำเภอพุทไธสงจะมีการเซิ้งบั้งไฟ
เทศกาลเข้าพรรษามีการประกวดเทียนเข้าพรรษา เทศกาลเดือน ๑๒
มีประเพณีลอยกระทง
แล้วยังมีงานประเพณีของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่สืบต่อกันมาอีกหลายงาน
เช่น
งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์และได้รับการแปลงเป็นพุทธสถานในสมัยหลัง
ช่วงที่ถูกทิ้งร้างอยู่มีผู้นำพระพุทธบาทจำลองไปประดิษฐานไว้ที่ปรางค์น้อยบนเขา
กลายเป็นประเพณีของชาวบ้านรอบ ๆ
บริเวณนั้นพากันขึ้นไปนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทนี้รวมทั้งไหว้พระทำบุญในวันขึ้น
๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี
เนื่องจากปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่สวยงามและเป็นประเพณีแต่เดิมอยู่แล้ว
จังหวัดจึงได้ส่งเสริมให้มีงานประเพณีในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน
โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณ ได้แก่
ขบวนแห่ราชประเพณีขอมโบราณ การแสดงแสงเสียงย้อนรอยอดีตพนมรุ้ง
ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์
กำหนดจัดในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากในลำน้ำมูล ชาวเรือบุรีรัมย์และจากจังหวัดต่าง ๆ
มาร่วมชุมนุมประลองฝีพายที่สนามแข่งเรือหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก
เพื่อแข่งขันความเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งลำน้ำมูล
ในแต่ละปีมีจำนวนเรือเข้าแข่งไม่น้อยกว่า ๔๐-๕๐ ลำ
และยังมีขบวนเรือตกแต่งแฟนซีงดงามด้วย
ประเพณีแข่งเรือยาวที่สนามแห่งนี้
เดิมเป็นประเพณีท้องถิ่นสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตรและสักการะเจ้าพ่อวังกรุด
ซึ่งเป็นชื่อวังน้ำวนช่วงหนึ่งของแม่น้ำมูล
ต่อมาได้จัดเป็นงานประเพณีของจังหวัดตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา
งานมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์
จัดขึ้นที่สนามกีฬาอำเภอห้วยราชในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมของทุกปี
ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือย่างเข้าสู่ฤดูหนาวมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรง
คนชนบทก็พากันทำว่าวแอก
ซึ่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเล่นกันทุกหมู่บ้าน
เป็นประเพณีการละเล่นของท้องถิ่นอีสานแต่นานมา
จังหวัดบุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๙
เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้คงอยู่และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง
เปิดโอกาสให้คนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านทำว่าวแอกมาแข่งขันชิงรางวัลกัน
ว่าวที่นำมาเข้าแข่งขันต้องมีขนาดปีกกว้าง ๒ เมตรครึ่งขึ้นไป
ตัดสินกันที่ความสวยงาม เสียงแอก และลีลาของว่าวบนท้องฟ้า
นอกจากนี้มีการประกวดขบวนแห่ว่าวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ตอนค่ำมีมหรสพ
การละเล่น และการแสดงสินค้าพื้นบ้าน
งานนมัสการพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ (วัดศีรษะแรด)
จัดขึ้นที่อำเภอพุทไธสง
ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓
ทุกปีเป็นเทศกาลนมัสการปิดทองพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของบุรีรัมย์
มีการทำบุญไหว้พระและมีมหรสพต่าง ๆ มากมาย รวม ๓ วัน
งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง
ที่เขากระโดง อำเภอเมือง จัดงานในวันเพ็ญเดือน ๓ เช่นกัน
ประชาชนจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตร
ตลอดจนเที่ยวงานกันอย่างคับคั่ง
แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์