>>  ข้อมลทั่วไป

 

>>  สถานที่ท่องเที่ยว

----------------------------------------------------------------------

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมา

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท
          ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น ถึงกิโลเมตรที่ 44 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯหรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่กม.44 แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน
          บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000
ปีมาแล้ว หลุมขุดค้น

เขื่อนลำพระเพลิง
          อยู่ในเขตอำเภอปักธงชัย ใช้เส้นทางสาย 314 ผ่านทางเข้าอำเภอปักธงชัยไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะพบสี่แยกเลี้ยวขวามือเข้าไปเป็นระยะทาง 28 กิโลเมตร เป็นเขื่อนในความดูแลของกรมชลประทาน ชาวบ้านนิยมมาพักผ่อน รับประทานอาหาร ตกปลาและชมทิวทัศน์ริมอ่างเก็บน้ำ มีบริการบ้านพักรับรองหลายหลัง ติดต่อโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง โทร. 0 4437 3184 ต่อ 114 นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเหมาเรือหางยาวไปชมบรรยากาศภายในอ่างเก็บน้ำ เที่ยวน้ำตกคลองกี่หรือน้ำตกขุนโจนได้ โดยใช้เวลาไป-กลับประมาณ 3-4 ชั่วโมง ติดต่อได้ที่สโมสรเขื่อนลำพระเพลิง โทร. 0 4437 3184 ต่อ 117

หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
          อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงสาย 224 (นครราชสีมา-โชคชัย) ในสมัยโบราณตำบลนี้เป็นที่พักกองเกวียนที่ค้าขายระหว่างโคราช-เขมร มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ชาวบ้านใช้ดินริมฝั่งแม่น้ำมาปั้นภาชนะใช้สอย และได้ทำสืบต่อกันมานับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันด่านเกวียนมีชื่อเสียงมากในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้สวยงาม มีรูปแบบที่แปลกและหลากหลาย แต่ยังคงลักษณะดั้งเดิมของกรรมวิธีในการปั้นและใช้ดินดำสัมฤทธิ์ที่มีเอกลักษณ์ของสีแบบดินเผาด่านเกวียนโดยเฉพาะ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์
          ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุทธจินดา ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด จัดแสดงศิลปวัตถุทั้งที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดารวบรวมไว้ โบราณวัตถุที่กรมศิลปากรได้สำรวจขุดพบในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงและที่มีผู้บริจาค ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป มีทั้งพระศิลาสมัยขอม พระพุทธรูปสมัยอยุธยา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องใช้สมัยโบราณ ภาพไม้แกะสลัก เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 09.00-16.00 . ในวันพุธถึงวันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0 4424 2958 หรือ www.thailandmuseum.com

ปราสาทพนมวัน
          ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ 15 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางด้านขวามือ แยกเข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าเดิมก่อสร้างด้วยอิฐในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 18–19 จึงได้สร้างอาคารหินซ้อนทับลงไป จากจารึกที่ค้นพบ เรียกปราสาทแห่งนี้ว่า เทวาศรมเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นพุทธสถาน ปัจจุบันแม้จะหักพังไปมาก แต่ยังคงเห็นซากโบราณสถานหลงเหลือเป็นเค้าโครงค่อนข้างชัดเจนเช่น ปรางค์จตุรมุของค์ประธานหลักซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกโดยมีมณฑปอยู่เบื้องหน้าและมีฉนวน (ทางเดิน)
เชื่อมต่อระหว่างอาคารทั้งสอง
          ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์มีอาคารก่อด้วยหินทรายสีแดงเรียกว่า ปรางค์น้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบปราสาทมีระเบียงคตสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงล้อมเป็นกำแพงอยู่ มีโคปุระ (ประตูทางเข้าเทวสถาน) ก่อสร้างเป็นรูปหอสูงทั้งสี่ทิศ บริเวณรอบนอกปราสาททางด้านทิศตะวันออกห่างจากโบราณสถานเกือบ 300 เมตร มีร่องรอยของคูน้ำและเนินดินเรียกว่า เนินอรพิม นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงจัดเรียงเป็นแนวคล้ายซากฐานอาคารบนเนินแห่งนี้ด้วย

สวนสัตว์นครราชสีมา
          อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 304(นครราชสีมา-ปักธงชัย) ระยะทาง 18 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 (ทางหลวงหมายเลข 2310) อีกประมาณ 1 กิโลเมตร หากเดินทางรถโดยสารจากตัวเมืองสามารถใช้บริการรถปรับอากาศสาย 1415 (สุรนารี-สวนสัตว์)
          สวนสัตว์นครราชสีมามีพื้นที่กว้างขวางถึง 545 ไร่ เป็นสวนสัตว์แบบซาฟารีกึ่งเปิดและปิดที่ทันสมัยได้มาตรฐานที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย คอกสัตว์กว้างขวาง จัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับนิสัยสัตว์แต่ละชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าแอฟริกา ที่น่าสนใจ ได้แก่ นกเพนกวิน แมวน้ำ ช้างแอฟริกา แรด เสือชีต้าห์ สิงโต ม้าลาย ยีราฟ เป็นต้น และยังมีอาคารจัดแสดงสัตว์เลื้อยคลาน และสวนนกเงือก จึงเหมาะแก่การทัศนศึกษาเรียนรู้ชีวิตสัตว์และพักผ่อนหย่อนใจ ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม มีบริการรถพ่วงวิ่งรอบบริเวณ รวมทั้งจักรยานให้เช่าอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีไนท์ซาฟารี ซึ่งเป็นแห่งเดียวในภาคอีสานและเป็นทางเลือกใหม่ของนักท่องเที่ยวที่จะได้สัมผัสบรรยากาศที่เย็นสบายและยังได้พบกับสัตว์ป่านานาชาติ เช่น งูหลามทอง เสือโคร่ง ช้างป่าแอฟริกา แรดขาว กระทิงเขาทุย นกฟลามิงโก ตลอดเส้นทางจะได้พบกับความเพลิดเพลินและความรู้ในด้านพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่หาชมได้ยากเป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร สวนสัตว์นครราชสีมา เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-18.00 . อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาทและไนท์ซาฟารี เปิดบริการวันละ 3 รอบ ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 4435 7355 หรือ website: www.zoothailand.org หรือ www.koratzoo.or.th

วัดศาลาลอย
          ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยแยกจากถนนรอบเมืองไปประมาณ 500 เมตร วัดนี้ตั้งอยู่ติดกับลำตะคองซึ่งไหลพาดผ่านตอนเหนือของตัวเมืองไปลงสู่แม่น้ำมูล ท้าวสุรนารีกับท่านปลัดสามีสร้างขึ้นเมื่อปี พ.. 2370
         
จุดเด่นของวัดอยู่ที่พระอุโบสถซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ในปี พ.. 2516 เป็นอุโบสถที่สร้างแบบศิลปไทยประยุกต์ เป็นรูปสำเภาโต้คลื่น ใช้วัสดุพื้นเมืองคือกระเบื้องดินเผาด่านเกวียนนำมาประดับตกแต่ง เช่น ผนังด้านหน้าอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ส่วนบานประตูเป็นโลหะลายนูน ภาพเล่าเรื่องเวชสันดรชาดก (13 กัณฑ์) ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาว ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนประทับ ณ ประตูเมืองสังกัสนคร หน้าประตูอุโบสถมีปูนปั้นรูปท้าวสุรนารีนั่งพนมมือกลางสระน้ำ ตัวอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปเสมา สัญลักษณ์ของเมืองเสมาเดิม ด้านข้างมีสถูปขนาดเล็กซึ่งเคยใช้เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี

ปราสาทนางรำ
          ตั้งอยู่ที่บ้านนางรำ ตำบลนางรำ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ 62 กิโลเมตร จนถึงแยกบ้านวัด เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 207 ไปประมาณ 22 กิโลเมตรถึงบ้านหญ้าคา (หรือก่อนถึงตัวอำเภอประทาย 11 กิโลเมตร) จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางเข้าวัดปราสาทนางรำอีก 4 กิโลเมตร ชื่อ ปราสาทนางรำ มาจากว่า เดิมเคยมีรูปนางรำ เป็นหินสีเขียวทำแบบเทวรูป อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารห่างไป 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือแต่ร่องรอยของเทวสถานและแท่นหิน ปราสาทนางรำเป็นโบราณสถานสมัยขอมที่เรียกว่าเป็น อโรคยาศาล (โรงพยาบาล) สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถาน 2 กลุ่มตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน กลุ่มปรางค์ที่สมบูรณ์กว่าหลังอื่นประกอบด้วยปรางค์องค์กลาง มีมุขยื่นออกไปข้างหน้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทมีวิหารก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ส่วนซุ้มโคปุระหรือประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปกากบาท นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง ถัดจากปราสาทนางรำไปทางทิศใต้ มีปราสาทอีก 3 หลังเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งเหลือเพียงฐานและมีกรอบประตูและทับหลังหินทรายตั้งแสดงอยู่ มีกำแพงศิลาแลงและคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ

หน้าที่   :    1     |    2

 

 
 
 
 
 
 
 

Webmaster : wanleeya lomloi contract to : wanleeya lomloi@yahoo.com Tel :  06-7508678
copyright 2006 All right reserved