สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดอุบลราชธานี
ทุ่งศรีเมือง
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
เป็นสวนสาธารณะประจำเมืองที่มีสภาพภูมิทัศน์งดงาม
เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมือง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดฯ
ให้งดการทำนาที่ทุ่งศรีเมือง เพื่อรักษาไว้ให้เป็นที่พักผ่อนของชาวเมือง
และเป็นที่จัดเทศกาลงานบุญต่างๆ ทุ่งศรีเมืองมีประตูทางเข้า ๔ ทิศ คือ
ประตูอุบลเดชประชารักษ์ อุบลศักดิ์ประชาบาล อุบลการประชานิตย์
และอุบลกิจประชากร ภายในทุ่งศรีเมือง มีปฏิมากรรมจำลองเทียนพรรษาแกะสลักที่งดงาม
สวนสุขภาพ สนามเด็กเล่น เปิดตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐-๒๒.๐๐ น.
นอกจากนี้ภายในทุ่งศรีเมืองมีสถานที่น่าสนใจที่สำคัญ
วัดทุ่งศรีเมือง
ตั้งอยู่ที่ถนนหลวงในเขตเทศบาลเมือง
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้สร้างวัดนี้คือ ท่านเจ้าอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบล คณะภิบาลสังฆปาโมก(สุ้ย)
เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น
ท่านได้เคยศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
ท่านจึงได้นำพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศฯ มายังอุบลราชธานี
และได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน หอพระพุทธบาทหลังนี้คือ
พระอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีลักษณะของศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น
และศิลปะเวียงจันทน์ผสมกันอยู่
ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้านเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓
อาคารที่สำคัญอีกหลังหนึ่งคือ หอพระไตรปิฎก เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้
ตั้งอยู่กลางสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก
ป้องกันไม่ให้มดปลวกไปกัดทำลาย มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า
และลาว กล่าวคือ ลักษณะอาคารเป็นแบบไทยเป็นเรือนฝาปะกน ขนาด ๔ ห้อง
ภายในห้องที่เก็บตู้พระธรรมทุกด้านเขียนลงรักปิดทอง
ส่วนของหลังคามีลักษณะศิลปะไทยผสมพม่าคือมีช่อฟ้าใบระกา
แต่หลังคาซ้อนกันหลายชั้นแสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมายังศิลปะลาวล้านช้าง
ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้ง ๒ ด้าน เป็นลักษณะศิลปะแบบลาว
ตรงส่วนฝาปะกนด้านล่างแกะเป็นรูปสัตว์ประจำราศีต่าง ๆ
และลวดลายพันธุ์พฤกษาเป็นช่อง ๆ โดยรอบ
นับเป็นหอไตรที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง
วัดศรีอุบลรัตนาราม
(วัดศรีทอง)
ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด ถนนอุปราช สร้างเมื่อ พ.ศ.
๒๓๙๘ วัดนี้มีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ “พระแก้วบุษราคัม”
เป็นพระพุทธปฏิมากรปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุศราคัม
ตามตำนานเล่ากันว่า พระวรราชภักดี(พระวอ) พร้อมด้วยบุตรหลานของพระตาคือ
ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหมและท้าวก่ำ
บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี
ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)
เดิมทีพระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง
และได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนารามในเวลาต่อมา
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ทางราชการได้ประกอบพิธิถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัดศรีอุบลรัตนาราม
พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมเป็นองค์ประธานในพิธี
โดยถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสืบกันมาแต่โบราณกาล
ปัจจุบันในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี
ชาวอุบลราชธานีจะร่วมใจกันอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมแห่ไปรอบเมืองอุบลราชธานี
เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการกราบไหว้
และสรงน้ำกันโดยถ้วนหน้า
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
ตั้งอยู่ที่ถนนเขื่อนธานีตัดกับถนนอุปราช เป็นอาคารปั้นหยาชั้นเดียว
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เดิมใช้เป็นศาลากลางจังหวัด
ต่อมาทางจังหวัดได้มอบอาคารหลังนี้ให้กรมศิลปากร
เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวท้องถิ่น ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์
ประวัติการตั้งเมือง โบราณวัตถุซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านศิลปโบราณคดี
หัตถกรรมพื้นบ้าน การละเล่นพื้นเมือง และเครื่องใช้ของเจ้าเมืองอุบล
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา
๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๑๐ บาท เด็ก ๕ บาท
วัดแจ้ง
ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ ตามประวัติเล่ากันว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.
๒๔๓๑ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยการดำริของเจ้าราชบุตร(หนูคำ)
หนึ่งในคณะอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น
โบราณสถานที่สำคัญคือ พระอุโบสถที่สร้างเสร็จในราว พ.ศ. ๒๔๕๕
หรือหลังจากการตั้งวัด ๒๔ ปี ได้รับการยกย่องว่ารูปทรงสวยงาม
และมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นฐานโดยแท้
ซึ่งนับวันจะหาดูเป็นตัวอย่างได้ยาก อุโบสถมีลักษณะไม่ใหญ่นัก
กว้างประมาณ ๖ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๑๐ เมตร
ฐานเตี้ยหลังคาชั้นเดียวเดิมมุงด้วยกระเบื้องไม้ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา
มีบันไดอยู่ด้านหน้า ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ
ส่วนหน้าบันหน้าอุดปีกนก และรวงผึ้งสลักไม้เป็นลายดอกบัว กอบัวอย่าวสวยงาม
โดยเฉพาะหางหงส์ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ
ทำเป็นรูปหัวนาคตรงหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว
อุโบสถวัดแจ้งได้รับการบูรณะเรื่อยมาโดยพยายามให้คงสภาพเหมือนเดิมที่สุด
ซึ่งนับเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี
เคยได้รับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ “สถาปนิก ๓๐”
จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วัดมหาวนาราม
ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดป่าใหญ่”
เป็นวัดเก่าแก่เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฎฐานตั้งขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการสร้างเมืองอุบลราชธานี
ต่อมาในสมัยเจ้าเมืองคนที่ ๒ คือ พระพรหมวรราชสุริยะวงศ์ (ท้าวทิดพรหม)
ได้ยกฐานะเป็นวัดและถือเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สองด้วย
จึงให้ชื่อว่าวัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านเรียกว่า
วัดหนองตะพังหรือหนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง
ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสมัยนิยมเป็นวัดมหาวนาราม
จากหลักฐานศิลาจารึกที่ตั้งอยู่ด้านหลังพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดระบุปีที่สร้างวัดนี้ตรงกับ
พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา
เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกและเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป พระอินทร์แปง
หรือพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ก่ออิฐถือปูนพร้อมกับลงรักปิดทองลักษณะศิลปะแบบลาว ในวันเพ็ญเดือน ๕
(ประมาณเดือนเมษายน) ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรเทศน์มหาชาติชาดก
และสรงน้ำปิดทองพระเจ้าใหญ่อินแปลง
ซึ่งถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีมาจนทุกวันนี้
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
อยู่ถนนสมเด็จ เป็นวัดธรรมยุติ
วัดแรกของจังหวัดอุบลราชธานี
จัดสร้างโดยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยได้เริ่มสร้างวัดในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า “วัดสุปัฎนาราม” อันหมายถึง
วัดที่มีสถานที่ตั้งเหมาะสม เป็นท่าเรือที่ดี
สิ่งสำคัญในวัดคือพระอุโบสถ ซึ่งมีขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๔ เมตร สูง
๒๒ เมตร สถาปนิกผู้ออกแบบคือ หลวงสถิตย์นิมานกาล (ชวน สุปิยพันธ์)
นายช่างทางหลวงแผ่นดิน ลักษณะของพระอุโบสถแบ่งเป็นสามส่วน คือ
ส่วนหลังคาเป็นศิลปะแบบไทย ส่วนกลางเป็นศิลปะตะวันตก
และส่วนฐานเป็นศิลปะแบบขอม
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัด คือ พระสัพพัญญูเจ้า
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
วัดหนองบัว
อยู่ชานเมืองอุบลราชธานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓ กิโลเมตร
ตามถนนเลี่ยงเมือง จะมีทางแยกจากถนนใหญ่เข้าไปประมาณ ๗๐๐ เมตร
ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์
ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ ๒๕ ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ.
๒๕๐๐ โดยได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย
มีฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ ๑๗ เมตร สูง ๕๖ เมตร
เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้วซึ่งทั้งสี่มุมของกำแพงแก้วได้ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก
๔ องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน
นับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้
สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งร่มรื่น
พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านก้านเหลือง
ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านก้านเหลือง
ตำบลขามใหญ่ จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ประมาณ ๓ กิโลเมตร
แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๔ (ถนนเลี่ยงเมือง) ไปอีก ๒ กิโลเมตร
วัดบ้านก้านเหลืองอยู่ทางซ้ายมือ กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นเมื่อปี
๒๕๓๙ พบโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย เช่น ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา
กระพรวนสำริด ขวานเหล็ก และแกลบข้าวจำนวนมาก แต่ไม่พบโครงกระดูกมนุษย์
สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุระหว่าง
๑,๕๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
บ้านปะอาว
ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองขอน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
ตามทางหลวงหมายเลข ๒๓ ทางไปยโสธร ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๗๓
เลี้ยวขวาไปอีก ๓ กิโลเมตร
เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี
ตามประวัติศาสตร์นั้น ได้อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว
ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าสิริบุญสาร มายังหนองบัวลำภู
นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จนกระทั่งถึงบ้านปะอาวแห่งนี้ ฉะนั้น
หมู่บ้านปะอาว จึงมีอายุประมาณ ๒๐๐ กว่าปี
และเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ประจำหมู่บ้านซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
คือการทำเครื่องทองเหลือง กรรมวิธีการผลิตยังเป็นแบบโบราณดั้งเดิม
นอกจากนี้แล้วในหมู่บ้านยังมีศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองเหลือง
และทอผ้าไหมที่สวยงามอีกด้วย
วัดหนองป่าพง
ตั้งอยู่ตำบลโหนโหนน
เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ
เหมาะแก่การเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อพ.ศ.
๒๔๙๗ หลวงปู่ชา (พระโพธิญาณเถร)
ได้ทำการบุกเบิกปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การปฎิบัติธรรมและได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในปีนั้น
และเปลี่ยนสภาพเป็นวัดในโอกาสต่อมา
บริเวณวัดสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
เป็นอาคารที่จัดแสดงเครื่องอัฐบริขารและหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ชา สุภัทโท
เปิดให้เข้าชม ตอนเช้า เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. ตอนบ่าย เวลา ๑๔.๐๐-๑๘.๐๐
น. และเจดีย์ศรีโพธิญาณ เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ชา
การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑๗๘ ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ ๖
กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาอีก ๒ กิโลเมตร