----------------------------------------------------------------------
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสกลนคร
พระธาตุเชิงชุม
ตั้งอยู่ถนนเจริญเมืองในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๒๔ เมตร
ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก ๒๔๗
บาท มีซุ้มประตู ๔ ด้าน ข้างในทึบ
สร้างครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซึ่งหมายถึง พระกกุสันทะ
พระโกนาคม พระกัสสะปะ และพระโคดม หรือพระศรีอารียเมตตรัย
(คือ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวพุทธศาสนิกชนเคารพสักการะบูชาอยู่ทุกวันนี้)
สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ
ภายในวิหารใกล้พระธาตุเชิงชุม
เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือ
และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร
ทุกวันพระในตอนค่ำจะมีประชาชนไปบูชากราบไหว้พระธาตุ
และหลวงพ่อองค์แสนเป็นจำนวนมาก
งานประจำปีของพระธาตุเชิงชุมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๙ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕
ค่ำ เดือนยี่ (๒) ของทุกปี (กำหนดตามจันทรคติ)
หนองหาร
เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีชื่อเสียง
และกว้างใหญ่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒๓
ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งรับน้ำตกของลำห้วยต่าง ๆ หลายสาย
และยังเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม
จังหวัดนครพนม อำนวยประโยชน์ในด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง
ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหาร
ระดับน้ำในหนองหารลึกประมาณ ๓-๘
เมตร ในบริเวณหนองหารมีเกาะต่าง ๆ กว่า ๒๐ เกาะ เช่น เกาะดอนสวรรค์
ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด บนเกาะมีวัดร้าง และพระพุทธรูปเก่าแก่
นอกจากนั้นตามเกาะต่าง ๆ เหล่านี้จะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย
เป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด บางเกาะได้สร้างศาลาพักร้อน เช่น
เกาะแก้ว เกาะดอนสะคาม และเกาะดอนสะทุง
ซึ่งในเวลากลางวันสาหร่ายที่อยู่ใต้พื้นน้ำ
เมื่อแดดส่องลงในน้ำจะเห็นสาหร่ายเป็นสีทอง
พระธาตุดุม
อยู่ที่วัดพระธาตุดุม บ้านธาตุดุม ตำบลงิ้วดอน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ
๕ กิโลเมตร (ถนนสาย รพช.
ทางไปโรงเรียนพัฒนาศึกษา)
ลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวสร้างด้วยศิลาแลงสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง
แต่องค์ปราสาทเล็กกว่ามีเพียงยอดเดียวไม่มีฐานรองรับ พบทับหลังทั้ง ๔
ด้าน ด้านทิศเหนือเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์
นอกจากนี้ยังมีภาพเทวดาทรงพาหนะเหนือหน้ากาลประกอบด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่น
ช้าง สิงห์ และลายใบไม้ม้วน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
ศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
พิพิธภัณฑ์บริขารอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ตั้งอยู่ในวัดป่าสุทธาวาส
ตรงข้ามศูนย์ราชการจังหวัด
พิพิธภัณฑ์มีลักษณะการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ประยุกต์
สร้างด้วยกระเบื้องดินเผา
ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปหล่อเหมือนองค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ในท่านั่งสมาธิ
และมีตู้กระจกบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกใสสีขาว
ยกฐานสูงพื้นปูด้วยหินอ่อน พร้อมทั้งตู้แสดงเครื่องอัฐบริขาร
รวมทั้งประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว ที่ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี และอุปสมบทเมื่ออายุ ๒๒ ปี
ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในปฏิมาธุดงด์กรรมฐานเป็นวัตร
มีพระในสายเดียวกับท่านอีกหลายองค์ที่ได้เข้ามาปฏิบัติ
และฝึกวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของท่าน เช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงปู่ขาว อาลนาโย หลวงปู่แหวน สุจินต์โน เป็นต้น
ต่อมาท่านได้ย้ายจากการธุดงค์กรรมฐานเข้ามาจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส
และมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.
๒๔๙๒ นอกจากนั้นยังมี พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย
จันทสาโร ตั้งอยู่ในวัดป่าสุทธาวาส
สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่หลุย (๒๔๔๔-๒๕๓๒)
ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่สายวิปัสสนา ศิษย์ของพระอาจารย์มั่น หลวงปู่หลุยเป็นผู้ที่มีปฏิปทาชอบจาริกไปในที่ต่าง
ๆ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตท่าน
เมื่อท่านมรณภาพและพระราชทานเพลิงศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ทรงมีพระราชกระแสว่า “ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส
อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ท่านจะได้อยู่ใกล้กัน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ร่างแบบเจดีย์องค์นี้ด้วยพระองค์เอง
ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง
ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง บ้านธาตุ
เป็นพระธาตุประกอบด้วยปรางค์องค์เดียว
สร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ สลักลวดลายลงบนเนื้อหิน
มีทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะฆ่าสิงห์ ในรูปแบบศิลปะเขมร สมัยบาปวน
ลักษณะคล้ายกับปราสาทหินของขอมที่ปรากฏหลายแห่งในภาคอีสาน
ลวดลายสลักหินบนซุ้มประตู หน้าต่างยังมีลักษณะสมบูรณ์ปรากฏชัด
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของผู้หญิงสร้างทั้งหมด
เพื่อแข่งขันกับผู้ชายที่สร้างพระธาตุภูเพ็ก
รูปแบบและศิลปะสันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๑๗
งานประเพณีของพระธาตุเจงเวงจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๑-๑๕
ค่ำ เดือน ๔ ของทุกปี การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๕
กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางสกลนคร-อุดรธานี
(ทางหลวงหมายเลข ๒๒)
ถึงบริเวณบ้านธาตุซึ่งอยู่ก่อนถึงสี่แยกถนนเลี่ยงเมืองเล็กน้อยแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก
๔๐๐ เมตร
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
ตั้งอยู่กลางเทือกเขาภูพาน
เป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์
ในคราวเสด็จแปรพระราชฐานเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
บริเวณสถานที่ตั้งเป็นป่าไม้ร่มรื่น
มีไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม
ในระหว่างที่ไม่ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนัก
อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน
โดยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการพระราชวัง พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน
กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ และเมื่อได้รับหนังสือตอบรับแล้วจึงจะเดินทางไปชมได้
การเดินทาง ตามเส้นทางสายสกลนคร-กาฬสินธุ์
(ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓) ห่างจากตัวเมืองสกลนคร ๑๓ กิโลเมตร
มีทางแยกเข้าไปทางด้านขวามือ
อุทยานแห่งชาติภูพาน
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตของอำเภอเมือง อำเภอพรรณานิคม อำเภอภูพาน
จังหวัดสกลนคร และอำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุดบาก
จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ ๖๕๕ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔๑๕,๘๓๘
ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๕ ที่ทำการอุทยานฯ
ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูน
เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร และห้วยต่าง ๆ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง
ป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ ค่าง ชะมด ลิงลม
ภายในอุทยานฯ
วัดถ้ำขาม หรือ ภูขาม
ตั้งอยู่บนภูขาม
ชาวบ้านมักเรียกว่า ภูคำขาม อยู่ในเขตบ้านคำป่า
เป็นเขาลูกหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน
วัดถ้ำขามนี้เดิมเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ.
๒๕๐๗
เมื่อท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร
นอกจากนี้ยังเป็นวัดหนึ่งที่เก็บอัฐิของพระอาจารย์เทศก์ เทศรังสี
ซึ่งมีผู้คนยังเดินทางมาสักการะบูชาอยู่เป็นประจำ
การเดินทาง ใช้เส้นทางสกลนคร-อุดรธานี
(ทางหลวงหมายเลข ๒๒) ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร
มีทางแยกซ้ายเข้าทางเดียวกับพระธาตุภูเพ็กไปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
ก่อนที่จะตรงขึ้นไปพระธาตุภูเพ็กมีทางแยกขวาไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
พระธาตุศรีมงคล
ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีมงคล ตำบลบ้านธาตุ
ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ยอดแหลม ตกแต่งด้วยศิลปกรรมยุคใหม่
ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลายปั้นดินเผา
บริเวณฐานเป็นพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสร้างด้วยดินเผาครอบพระธาตุองค์เดิมซึ่งเป็นศิลาแลงที่ชำรุด
นับเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอวาริชภูมิ
การคมนาคมสะดวกรถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณวัด การเดินทาง
ตามเส้นทางพังโคน-วาริชภูมิ ห่างจากที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิ ๒๐๐ เมตร
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม หรือวัดถ้ำพวง
และพิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน อุตตโม
สร้างเป็นรูปทรงจตุรมุข ๒ ชั้น ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง
ชั้นล่าง
ตกแต่งเป็นห้องแสดงภาพวาดเกี่ยวกับประวัติของพระอาจารย์ตั้งแต่เกิด
ส่วน ชั้นบน
มีรูปปั้นของท่านในท่านั่งขัดสมาธิ
พร้อมเครื่องสักการบูชาที่ตกแต่งสวยงาม
และตู้กระจกแสดงเครื่องอัฐบริขารของท่าน
บริเวณใกล้เคียงกันมีถ้ำพวงซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมุจรินทร์องค์ใหญ่
การเดินทาง
ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒ (สกลนคร-อุดรธานี) ระยะทางประมาณ ๘๔ กิโลเมตร
ถึงอำเภอสว่างแดนดินเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอส่องดาวไปถึงวงเวียนอนุสาวรีย์พระเวสสันดร
แล้วเลี้ยวขวาไปวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมประมาณ ๕ กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก
ครอบคลุมพื้นที่ในส่วนของอำเภอส่องดาว อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูน
อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร อำเภอสามหมอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสมเด็จ
อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ ๒๖๑,๘๗๕
ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน
ภูเขาที่สูงที่สุดคือ ภูอ่างสอ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ
ป่าดิบแล้ง ไผ่หลายชนิด และสมุนไพรชนิดต่าง ๆ สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่
หมูป่า เก้ง กระจง นกชนิดต่าง ๆ
แหล่งท่องเที่ยวบนยอดภูผาเหล็กโดยเฉพาะบริเวณหน้าผาต่าง ๆ หอส่องดาว
สามารถใช้รถยนต์ขึ้นไปตามถนน รพช. จากที่ทำการอุทยานฯ
ถึงหอส่องดาวระยะทาง ๕.๕ กิโลเมตร
และใช้เส้นทางเดินเท้าสู่จุดท่องเที่ยว
ศูนย์วัฒนธรรมไทยโส้
ตั้งอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๐
กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒ (สกลนคร-นครพนม)
ในศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทยโส้ซึ่งอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
มีแผ่นป้ายเขียนข้อความภาษาของชาวไทยโส้เปรียบเทียบกับภาษาไทย
ให้เห็นถึงความแตกต่างของตัวอักษร
และสำเนียงการออกเสียง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๔๒๗๖ ๙๐๕๒
อุทยานแห่งชาติภูผายล
ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอโคกศรีสุพรรณ
อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง
อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร มีพื้นที่ประมาณ ๘๒๕ ตารางกิโลเมตร หรือ
๕๑๗,๘๕๐ ไร่ เป็นอุทยานฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.
๒๕๓๑
สภาพป่าทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับกับเทือกเขาหินทราย
สภาพป่าประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา
พรรณไม้ที่พบ ได้แก่ ไม้ตะเคียน ตะแบก กะบก สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เก้ง
กวาง หมาไน เป็นต้น
ภาพรอยสลักผาสามพันปีที่ภูผายล
ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านนาผาง ตำบลกกปลาซิว ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ
๓๘ กิโลเมตร ภูผายลเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์
ในบริเวณนั้นมีภาพแกะสลักบนหน้าผาหินเป็นรูปภาพต่าง ๆ
แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์
ที่ใช้ของแข็งขูดขีดลงบนหน้าผา เช่น ภาพสัตว์ คน ไร่นา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีธรรมชาติรอบข้างเป็นป่าเขาที่สวยงาม การเดินทาง
จากตัวอำเภอเต่างอยไปตามเส้นทางอำเภอเต่างอย-ศรีวิชา
๕ กิโลเมตร เข้าสู่บ้านม่วง-นาอ่าง
และเดินทางต่อผ่านบ้านโพนบก-โพนแพง
และบ้านนาผางตามลำดับ รวมระยะทาง ๓๕ กิโลเมตร
ก่อนถึงภูผายลจากบ้านนาผางขึ้นไปจะเป็นถนนลาดยางจนถึงหน้าผาหิน
และมีบันไดขึ้นสู่หน้าผายอดเขา ตามระยะทางสามารถแวะพักตามจุดชมวิว
ซึ่งมีก้อนหินทรายตั้งวางเป็นระยะ บางแห่งรูปคล้ายเพิงพัก
หรือแท่นที่นั่ง
|