ร้อยเอ็ดเพชรอีสาน
พลาญชัยบึงงาม เรืองนามพระสูงใหญ่
ผ้าไหมชั้นดี สตรีโสภา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บุญผะเหวด
ร้อยเอ็ด
เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานมานานกว่า
๒๐๐ ปี อดีตเคยเป็นเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองมาก ชื่อว่า สาเกตนคร
มีเมืองขึ้นถึงสิบเอ็ดเมือง (ในสมัยโบราณนิยมเขียนสิบเอ็ดเป็น ๑๐๑
คือสิบกับหนึ่ง) มีทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดประตู
แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากมาย
จนแทบจะหาร่องรอยแห่งอดีตไม่พบ
ประวัติศาสตร์ของเมืองร้อยเอ็ดเริ่มปรากฏขึ้นในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
โดยมีเจ้าลาวจากนครจัมปาศักดิ์ได้เดินทางมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่เป็นอำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
ต่อมาได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ได้ย้ายเมืองใหม่มาตั้งที่บริเวณเมืองร้อยเอ็ดปัจจุบัน
ส่วนเมืองสุวรรณภูมิเดิมก็ยังคงมีอยู่ในสมัยพระบาท
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์คิดกบฎต่อกรุงเทพฯ
ได้ยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองรายทางจนถึงนครราชสีมา
แต่ก็ถูกทัพไทยตีแตกพ่ายไปในที่สุด
นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว
ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีแสดงการอยู่อาศัยของคนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นกันและรวมทั้งเคยเป็นดินแดนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ
เพราะพบโบราณสถานแบบขอมหลายแห่ง เช่น กู่พระโกนา อำเภอสุวรรณภูมิ
กู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย ปรางค์กู่ อำเภอธวัชบุรี เป็นต้น
ร้อยเอ็ด
มีเนื้อที่ ๘,๒๙๙ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๗ อำเภอ และ ๓
กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตต์
อำเภอจตุรพักตรพิมาน อำเภอธวัชบุรี อำเภอพนมไพร อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ
อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภออาจสามารถ อำเภอหนองพอก อำเภอเมืองสรวง
อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทราย อำเภอเมยวดี อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอจังหาร
กิ่งอำเภอเชียงขวัญกิ่งอำเภอหนองฮี
และกิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง
อาณาเขต
ทิศเหนือ
ติดกับอำเภอกมลาไสย อำเภอกุฉินารายณ์
อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
ทิศใต้
ติดกับอำเภอรัตนบุรี
จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอเมือง
อำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอเมือง
อำเภอวาปีปทุม และอำเภอพยัคฆภูมิ จังหวัดมหาสารคาม
เทศกาลและงานประเพณี
งานประเพณีบุญข้าวจี่ของดีเมืองโพธิ์ชัย หรือบุญเดือนสาม
เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นตามฮีตสิบสอง จารีตประเพณีโบราณของชาวอีสาน
ซึ่งถือว่าการได้ทำบุญข้าวจี่แล้วจะได้บุญกุศลมากและเป็นกาละทานชนิดหนึ่ง
ในงานได้จัดให้มีการประกวดธิดาปุณณทาสี และข้าวจี่ยักษ์อีกด้วย
งานประเพณีกินข้าวปุ้นบุญผะเหวด
เริ่มจัดปี พ.ศ. ๒๕๓๔
และจัดเป็นประจำทุกปี ประมาณต้นเดือนมีนาคม
บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์และบึงพลาญชัย บุญผะเหวดหรือทางภาคกลางเรียกว่าบุญมหาชาติ
นิยมจัดในช่วงเดือนสี่ เป็นงานบุญที่พระเทศน์มหาเวสสันดรชาดก
เรียกการเทศน์นี้ว่า เทศน์มหาชาติ มีการแห่ขบวนผะเหวด ๑๓ ขบวน
ตามกัณฑ์เทศน์มหาชาติ จากอำเภอและหน่วยงานต่างๆ
บริเวณรอบบึงพลาญชัยด้านในจัดเป็นร้านข้าวปุ้น (ขนมจีน)
ไว้คอยบริการฟรีสำหรับผู้มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประกวดศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน
เช่น พานบายศรีสู่ขวัญ เป็นต้น
ประเพณีบุญบั้งไฟ
เป็นงานที่จัดตามอำเภอต่างๆ
ภายในจังหวัด ประมาณเดือนมิถุนายน
โดยแต่ละอำเภอจะมีขบวนแห่บั้งไฟซึ่งจัดอย่างสวยงาม
แสดงถึงประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะที่อำเภอพนมไพร
และอำเภอสุวรรณภูมิ จะมีขบวนแห่ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่
ประเพณีแห่เทียนพรรษา
จัดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาของทุกปี ณ
บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์โดยขบวนแห่ต้นเทียนแต่ละวัดจะตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้สีสวยสด
และสาวงามจะเคลื่อนขบวนจากคุ้มต่างๆ ผ่านตลาดไปยังบริเวณหน้าศาลาจตุรมุข
ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
เพื่อร่วมประกวดต้นเทียนและขบวนแห่ต้นเทียน
โดยจะมีการรำเซิ้งแบบอีสานประกอบ
งานแข่งขันเรือยาวประเพณี ตำบลเมืองบัว
อำเภอเกษตรวิสัย
จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูน้ำหลาก คือช่วงเทศกาลออกพรรษา
หรือประมาณกลางเดือนตุลาคมของทุกปี
เรือที่มาร่วมแข่งเป็นเรือของจังหวัดร้อยเอ็ด และจากจังหวัดใกล้เคียง
เช่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และนครราชสีมา เป็นต้น
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด
|