---------------------------------------------------------------------------
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดมุกดาหาร
น้ำตกตาดโตน
อยู่ที่บ้านโนนยาง เป็นน้ำตกสูง ๗ เมตร กว้าง ๓๐
เมตร น้ำไหลเกือบตลอดปี มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้
ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด การเดินทาง
ห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองสูงประมาณ ๓ กิโลเมตร ไปทางอำเภอกุฉินารายณ์
จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๐ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๖๗–๖๘
และเลี้ยวขวาไปประมาณ ๔๐๐ เมตร
สักการสถานพระมารดาแห่งมรณะสักขี
วัดสองคอน
เป็นโบสถ์คริสต์ที่มีบริเวณกว้างขวางมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง
สร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เคยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี ๒๕๓๙ ด้านหลังของโบสถ์มีหุ่นขี้ผึ้งของนักบุญราศรีทั้งเจ็ด
แก่งกะเบา
เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง
บนฝั่งมีลานหินกว้างใหญ่เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี
ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ
การเดินทางใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม (ทางหลวงหมายเลข
๒๑๒) ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก ๙ กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา
ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๘ กิโลเมตร
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก
ตั้งอยู่บนเส้นทาง ๒๑๒
(สายมุกดาหาร-เลิงนกทา)
ห่างจากอำเภอนิคมคำสร้อย ๒
กิโลเมตร และตัวเมืองมุกดาหารประมาณ ๒๓ กิโลเมตร ก่อนถึงทางเข้าภูหมู
เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร
วัดภูด่านแต้ หรือวัดพุทธโธธัมมะธะโร
ตั้งอยู่ที่บ้านชัยมงคล ตำบลโชคชัย
ริมทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๓๔
ห่างจากตัวอำเภอนิคมคำสร้อยประมาณ ๔ กิโลเมตร
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่
มีธรรมจักรเปล่งรัศมีอยู่ด้านบนมีความอ่อนช้อยสวยงาม
สามารถมองเห็นได้แต่ไกล บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติ
มีประชาชนมานมัสการและชมความงามของวัดอยู่เสมอ
กลองมโหระทึก
ตั้งอยู่ที่วัดมัชฌิมาวาส
(วัดกลาง)
ใกล้ที่ว่าการอำเภอดอนตาล กลองมโหระทึกเป็นกลองสัมฤทธิ์หน้าเดียว
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘๖ เซนติเมตร ตัวกลองยาว ๙๐ เซนติเมตร
หน้ากลองเป็นรูปตะวันนูน มีแฉก ๑๔ แฉก มีรูปกบติดขอบกลองจำนวน ๔ ตัว
กลองดังกล่าวเชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ปี
และเป็นกลองที่พวกข่าและขอมโบราณชอบเก็บสะสมไว้ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.
๒๔๘๑
ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่น้ำเซาะพังตรงบ้านนาทาม
โดยตอนแรกเก็บไว้ที่วัดเวินไชยมงคล
แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่หอกลองวัดมัชฌิมาวาส
อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
เป็นอุทยานที่มีพื้นที่อยู่บนแนวรอยต่อ ๓ จังหวัด คือ อำเภอนิคมคำสร้อย
อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน
และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ประมาณ ๓๒๑
ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๔๔,๓๗๕ ไร่
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๕ เป็นลำดับที่ ๗๕
ของประเทศ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก
มีความงามทางธรรมชาติให้สัมผัสหลายแบบ เช่น เดินชมทิวทัศน์บนยอดภูเขา
ความมหัศจรรย์ของโขดหิน
ชมไม้ดอกบนทุ่งหญ้าช่วงปลายฤดูฝนและชมดอกบัวธรรมชาติบนยอดเขาที่ชาวท้องถิ่นเรียกว่า“ภูเขาแห่งดอกบัว”
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน
ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีความสูงโดยเฉลี่ย ๓๕๐-๔๕๐ เมตร
เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มียอดสูงที่สุดคือ ภูกระแซะ สูงประมาณ ๔๙๑
เมตร เทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยทม
ห้วยก้านเหลือง ซึ่งไหลรวมลงสู่พื้นราบโดยรอบอุทยานฯ
ซึ่งประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด
พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ซึ่งชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ดาน”
กระจายอยู่ตามป่า
ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งกระจายอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ
มีไม้ที่มีค่าขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น มะค่าโมง ประดู่แดง พยุง ชิงชัน
บริเวณพื้นที่ป่าเหล่านี้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด
โดยเฉพาะที่เทือกเขาภูสระดอกบัวซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่
และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เก้ง
หมูป่า กระต่ายป่า ลิง บ่าง เม่น กระจง และสัตว์ปีกประเภทต่าง ๆ ได้แก่
ไก่ฟ้า ไก่ป่า เป็นต้น บริเวณอุทยานฯ ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม
ความวิจิตรพิสดารของหินผามีความเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ตลอดจนร่องรอยของการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง
จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร
(ภูผาเทิบ)
เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๕๙ ของประเทศไทยมีเนื้อที่ ๔๘.๕
ตารางกิโลเมตร หรือ ๓๐,๓๑๒.๕
ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดอนตาล
จังหวัดมุกดาหาร
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกันแบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน
เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ
๔ กิโลเมตร ภายในอุทยานมุกดาหารประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง
ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ
ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี
มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๗๐-๔๒๐
เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ
และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์
ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น
แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว
หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย
ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง
ตั้งอยู่บนถนนสำราญชายโขง
ริมแม่น้ำโขง ติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหาร
ศาลแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต
ประวัติเล่ากันต่อมาว่ามีธิดาสองพี่น้องของเจ้าเมืองฝั่งลาวได้นั่งเรือข้ามมาจังหวัดมุกดาหารแล้วเกิดเรือล่มเสียชีวิตทั้งสององค์
จึงได้สร้างศาลไว้ที่ต้นตาลเจ็ดยอดเมื่อครั้งที่เจ้ากินรีสร้างเมืองมุกดาหาร
ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง
เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ในวันขึ้น ๑๕
ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี
ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองและเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน
หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก
ตั้งอยู่บนถนนชยางกูร
(มุกดาหาร-ดอนตาล)
สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสครองราชย์ครบ
๕๐ ปี
หอแก้วมุกดาหารเป็นหอสูงภายในมีห้องจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองมุกดาหาร
วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองของชนสองฝั่งโขง ชั้นบนสุด(ชั้น๗)เป็นหอพระประดิษฐานพระพุทธรูปนวมิ่งมงคลมุกดาหารและพระประจำวันเกิดทั้ง
๗ วัน สามารถชมทัศนียภาพรอบตัวเมือง แม่น้ำโขงและฝั่งลาวได้อย่างสวยงาม
เปิดทุกวันตั้งแต่ เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐
น. ค่าเข้าชม ๒๐ บาท
วัดศรีมงคลใต้
ตั้งอยู่ถนนสำราญชายโขง
ริมแม่น้ำโขงในตัวเมืองมุกดาหาร
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวงพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นก่อนตั้งเมืองมุกดาหาร
แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๒๐
เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี ๒ เมตร ตามตำนานเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.
๒๓๑๐
ขณะที่เจ้ากินรีคุมบ่าวไพร่ถากถางอยู่ใกล้ต้นตาลเจ็ดยอด
เมื่อครั้งสร้างเมืองใหม่นั้นได้พบพระพุทธรูปสององค์
องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์
เจ้ากินรีจึงสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น
เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์
วันหนึ่งเมื่อพระภิกษุประจำวัดเข้าไปสักการะ
ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก เมื่อค้นดูรอบ ๆ บริเวณวัด
พบว่าพระพุทธรูปเหล็กไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ตามเดิม
และจมลงในดินเหลือแต่ยอดพระเมาลีเป็นที่น่าอัศจรรย์
เจ้ากินรีจึงสร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้น และถวายนามว่า “พระหลุบเหล็ก”
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ ในโบสถ์
เรียกนามว่า “พระเจ้าองค์หลวง”
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมุกดาหารนับแต่นั้นมา
วัดศรีบุญเรือง
(บ้านใต้)
ตั้งอยู่ที่ถนนสำราญชายโขงในตัวเมืองมุกดาหาร
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธสิงห์สอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี ๑.๒๐
เมตร ประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิงห์สองนั้น มีหลักฐานว่า
ในสมัยที่เมืองมุกดาหารยังเป็นเมืองใหม่
เจ้ากินรีได้เดินทางไปนครเวียงจันทน์
เพื่ออัญเชิญพระพุทธสิงห์สองมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถของวัดศรีมงคลใต้
ต่อมาเจ้ากินรีได้สร้างวัดขึ้นใหม่ที่บ้านศรีบุญเรือง
จึงได้อัญเชิญย้ายมาประดิษฐานบนแท่นในพระอุโบสถวัดศรีบุญเรือง เพื่อสักการะบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ในงานสงกรานต์ของอำเภอเมืองมุกดาหาร
ชาวอำเภอเมืองมุกดาหารได้กระทำพิธีอัญเชิญพระพุทธสิงห์สองจากพระอุโบสถวัดศรีบุญเรืองแห่รอบเมือง
แล้วนำไปประดิษฐานบนแท่นที่จัดไว้
เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปี
|