------------------------------------------------------------------------------
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดมหาสารตาม
พระธาตุนาดูน
พุทธมณฑลแห่งอีสาน ตั้งอยู่ที่บ้านนาดูน
เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต
เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่าง ๆ
ที่ค้นพบได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่นและที่สำคัญคือ
การขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด
ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕
สมัยทวาราวดี รัฐบาลจึงอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นในเนื้อที่
๙๐๒ ไร่ โดยบริเวณรอบๆ จะมีพิพิธภัณฑ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม สวนรุกขชาติ
สวนสมุนไพร ซึ่งตกแต่งให้เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน
เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีลักษณะเป็นป่าธรรมชาติ
มีน้ำไหลเฉพาะที่ตลอดเวลาหรือที่เรียกว่าป่าน้ำซับ
นอกจากนั้นยังมีพืชและสัตว์ที่ไม่ค่อยพบในที่อื่น ๆ และหายาก เช่น
ต้นลำพัน เห็ดลาบ ปลาคอกั้ง งูขา และปูทูลกระหม่อม
หรือปูแป้งเป็นปูน้ำจืดที่สวยที่สุดในโลก ตัวขนาดใหญ่กว่าปูนา
ลำตัวมีหลายสี เช่น ม่วง ส้ม เหลือง และขาว ซึ่งจะพบเฉพาะที่ป่าดูนลำพันแห่งนี้เท่านั้น
หมู่บ้านหัตถกรรมบ้านหนองเขื่อนช้าง
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลท่าสองคอน เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหม
ผ้าฝ้าย และทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่
เสื้อผ้าฝ้าย กางเกงขาก๊วยแบบอีสาน
นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมซื้อสินค้าที่ระลึกแห่งนี้ได้ การเดินทาง
จากตัวเมืองไปตามเส้นทางสายมหาสารคาม-โกสุมพิสัย
ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายระหว่างกิโลเมตรที่ ๔๗-๔๘
ตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๗ สู่บ้านโนนตาล เดินทางต่อไปอีก ๒ กิโลเมตร
จึงจะถึงหมู่บ้านหนองเขื่อนช้าง
บ้านแพง
เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพการทอเสื่อกกเป็นอาชีพเสริม
เสื่อกกที่บ้านแพงนี้มีความสวยงามและคุณภาพสูง ส่งจำหน่ายไปทั่วประเทศ
การเดินทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๘ (มหาสารคาม-โกสุมพิสัย)
เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางโกสุมพิสัย-ขอนแก่น
ระหว่างกิโลเมตรที่ ๒๐-๒๑
ห่างจากอำเภอโกสุมพิสัย ๙ กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓๘
กิโลเมตร
วนอุทยานโกสัมพี
ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวขวาง ริมฝั่งแม่น้ำชี
จากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข ๒๐๘ ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร
ถึงสี่แยกโกสุมพิสัย ตรงเข้าทางลาดยาง ๔๕๐ เมตร วนอุทยานโกสัมพี
มีเนื้อที่กว้าง ๑๒๕ ไร่ ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๙
ลักษณะเป็นสวนป่ามีต้นไม้หลายชนิด เช่น ต้นยางขนาดใหญ่ ต้นตะแบก
ต้นกระทุ่ม ฯลฯ แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมติดต่อกัน
มีหนองน้ำธรรมชาติทัศนียภาพร่มรื่น วนอุทยานนี้เป็นที่อาศัยของนกต่างๆ
และลิงแสมฝูงใหญ่จำนวนหลายร้อยตัว
รวมทั้งลิงแสมสีทองซึ่งเป็นพันธุ์ที่หายาก
พระพุทธรูปยืนมงคล
ตั้งอยู่ตำบลคันธารราษฎร์
เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีคู่เมืองมหาสารคาม
สร้างขึ้นด้วยหินทรายแดงเหมือนพระพุทธมิ่งเมือง
เชื่อกันว่าขณะที่อำเภอกันทรวิชัยฝนแล้งชาวบ้านที่เป็นผู้ชายได้สร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง
และผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคลขึ้นเพื่อขอฝน
แล้วเสร็จพร้อมกันจึงจัดงานฉลองอย่างมโหฬาร
นับแต่นั้นมาฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องที่นี้เป็นอันมาก การเดินทาง
ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
พระพุทธมิ่งเมือง
หรือพระพุทธรูปสุวรรณมาลี
ตั้งอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส ตำบลโคกพระ สร้างด้วยหินทรายแดง
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยทวาราวดีที่ชาวมหาสารคามนับถือกันมาก
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ (มหาสารคาม-กาฬสินธุ์)
ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๔ กิโลเมตร(อยู่ทางด้านซ้ายมือ)
แก่งเลิงจาน
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภายในบริเวณเป็นที่ตั้งของสถานีประมง
ทำการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้หลายจังหวัดในภาคอีสาน
อยู่ด้านหลังของสถาบันราชภัฏมหาสารคาม ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓
กิโลเมตร บริเวณโดยรอบของแก่งเลิงจานมีทิวทัศน์สวยงาม
ในวันหยุดประชาชนนิยมไปพักผ่อนกันมาก
หมู่บ้านปั้นหม้อ
ตั้งอยู่ที่ตำบลเขวา
ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๘ (มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด)
ประมาณ ๔ กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ ๑
กิโลเมตร
เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพปั้นหม้อดินเผากรรมวิธีแบบโบราณดั้งเดิม
ซึ่งชาวอีสานใช้เป็นหม้อน้ำ และหม้อแกง เป็นต้น
กู่มหาธาตุ
(ปรางค์กู่บ้านเขวา)
ตั้งอยู่ที่บ้านเขวา
ตำบลเขวา เป็นโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ทำด้วยศิลาแลงเป็นรูปกระโจมสี่เหลี่ยม สูงจากพื้นดินถึงยอด ๔ วา กว้าง
๒ วา ๒ ศอก ภายในปราสาทมีเทวรูปทำด้วยดินเผา ๒ องค์ นั่งขัดสมาธิ
ประนมมือ ถือสังข์ มีกำแพงทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบ
โคปุระอยู่แนวด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้าออกภายในกำแพงเพียงด้านเดียว
บรรณาลัยอยู่ภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีทางเข้าในปรางค์ประธานเพียงด้านเดียว คือ ทิศตะวันออก ส่วนอีก ๓ ด้าน
เป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังเป็นหินทราย
กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งเรียบร้อยแล้ว
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ตั้งอยู่ถนนหน้าโรงเรียนหลักเมืองมหาสารคาม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.
๒๔๐๘ เมื่อท้าวมหาชัยเจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก
ได้รวบรวมไพร่พลจากร้อยเอ็ดมาตั้งเมืองใหม่ได้สร้างหลักเมือง
และอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมาประทับเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมือง
นับเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชาวจังหวัดมหาสารคามให้ความเคารพนับถือกันมาก
อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย
อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและต้นไม้ หลายชนิด
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป