>>  ข้อมลทั่วไป

     >>  สถานที่ท่องเที่ยว

-----------------------------------------------------------

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดชัยภูมิ

อุทยานแห่งชาติตาดโตน 
         
ตั้งอยู่ในตำบลนาฝาย ตำบลท่าหินโหม ตำบลห้วยต้อน และตำบลนาเสียว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเทือกเขาภูแลนคา มีเนื้อที่รวมประมาณ ๒๑๗ ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญ คือ ลำปะทาว และจะไหลรวมกับแม่น้ำชี มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ได้แก่ น้ำตกตาดโตน น้ำตกตาดฟ้า และน้ำตกผาเอียง
         
น้ำตกตาดโตน  เป็นน้ำตกที่สวยงามใกล้ที่ทำการอุทยานฯ มีน้ำไหลตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูฝนจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความสูงประมาณ ๖ เมตร และกว้าง ๕๐ เมตร ด้านบนเป็นธารน้ำไหลผ่านลานหินสองฝั่งธารร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เหมาะที่จะนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติและเล่นน้ำ บริเวณน้ำตกมี ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ศาลปู่ด้วง) มีประวัติว่า เจ้าพ่อตาดโตนเป็นคนเชื้อสายเขมรอพยพเข้าเมืองไทย ในเวลาใกล้เคียงกับพ่อพระยาแล (พระยาภักดีชุมพล)
ท่านบำเพ็ญตนเป็นชีปะขาวยึดมั่นในสมถะ กรรมฐาน ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และช่วยรักษาคนไข้ เป็นที่นับถือเลื่อมใสของราษฎรมาก เมื่อถึงแก่กรรมจึงมีการสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพสักการะไว้หลายแห่ง นอกจากที่น้ำตกตาดโตนแล้วยังมีศาลปู่ด้วงที่ช่องสามหมอ และที่วัดชัยภูมิพิทักษ์อีกด้วย มักมีประเพณีรำผีฟ้า ผีทรงบวงสรวงเจ้าพ่อเป็นประจำ

อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล)
          ตั้งอยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ ในตัวเมือง ชาวชัยภูมิได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ ตามประวัติเล่าว่า ในปี ๒๓๖๐ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ นายแล ซึ่งเป็นข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้อพยพครอบครัวและบริวารข้ามลำน้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านน้ำขุ่น บริเวณอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ต่อมาได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่โนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ๖ กิโลเมตร ได้ส่งส่วยต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ต่อมาจึงย้ายชุมชนมาอยู่ที่บ้านหลวง ในเขตอำเภอเมืองปัจจุบัน และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา ส่งส่วยแก่รัชกาลที่ ๓ ไม่ขึ้นแก่เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้ง ขุนภักดีชุมพล
(แล) เป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
          ครั้น พ
.. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ก่อการกบฏ ยกทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมา ขุนภักดีชุมพลพร้อมเจ้าเมืองใกล้เคียงยกทัพไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่าย เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงย้อนกลับมาจับขุนภักดีชุมพลประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามริมหนองปลาเฒ่า ด้วยความดีที่ขุนภักดีชุมพลมีต่อแผ่นดินไทยจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีชุมพล (แล)

วัดศิลาอาสน์ ภูพระ 
          ตั้งอยู่ที่บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว ภายในบริเวณวัดมีเพิงผาหินซึ่งมีภาพจำหลักกลุ่มพระพุทธรูป อันเป็นที่มาของชื่อ ภูพระ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาช้านาน ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาครอบไว้  ประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง ๕ ฟุต สูง ๗ ฟุต พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายพาดอยู่ที่พระชงฆ์
(พระหัตถ์อยู่ในท่าตรงข้ามกับปางมารวิชัย) เรียกกันว่า พระเจ้าตื้อ มีพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็กสูง ๗ นิ้วลักษณะเดียวกันอีก ๑ องค์ตั้งวางอยู่ด้านหน้า ใกล้กันมีพระพุทธรูปอีก ๗ องค์จำหลักรอบเสาหินทราย ประทับนั่งเรียงแถว ปางสมาธิ ๕ องค์ ปางเดียวกับพระเจ้าตื้อ ๒ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้มีพุทธลักษณะเป็นแบบพระพุทธรูปอู่ทอง มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น ทุกปีมีงานนมัสการพระพุทธรูปที่ภูพระในช่วงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ และวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕

ปรางค์กู่ 
          ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง ปรางค์กู่เป็นปราสาทหินสมัยขอมที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็น อโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ๑ องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า ๑ หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ ๑ สระ ปรางค์ประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๕ เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูเข้าออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก ๓ ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกันแต่ลบเลือนไปมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี สูง ๑
.๗๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ โดยเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ชาวชัยภูมิให้ความเคารพสักการะ มีการจัดงานประจำปีในช่วงกลางเดือน ๕ ของทุกปี

ใบเสมาบ้านกุดโง้ง 
         
เก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม  เป็นใบเสมาหินทรายศิลปะทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในอาคารอย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกตอนต่าง ๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน

ผาเกิ้ง
         
เป็นส่วนหนึ่งของภูแลนคา หากเดินทางมาตามเส้นทางชัยภูมิ-หนองบัวแดง จะเห็นหน้าผาสูงริมทางคล้ายพระจันทร์เสี้ยวยื่นออกมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า ผาเกิ้ง ซึ่งหมายถึงพระจันทร์ในภาษาอีสาน บนเขามีวัดผาเกิ้งหรือวัดชัยภูมิพิทักษ์ตั้งอยู่                    เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชัยภูมิพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง ๑๔ เมตร ด้านหน้าองค์พระเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมองเห็นทัศนียภาพของทุ่งนาได้กว้างไกล  ผาเกิ้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓๖ กิโลเมตรบนหลวงหมายเลข ๒๑๕๙ (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง)

ถ้ำแก้ว
          ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดถ้ำแก้ว ลักษณะของถ้ำคล้ายห้องโถงลึกลงไปในภูเขา บรรยากาศเย็นและชื้นตลอดเวลา มีไฟฟ้าให้แสงสว่างภายในถ้ำ จากปากถ้ำมีทางเดินลงลึกไปถึงด้านล่าง ซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ และมีหินย้อยอยู่ตามผนังถ้ำ เมื่อต้องแสงเกิดเป็นประกายแวววาวสวยงาม
 

จุดชมวิวเทือกเขาพังเหย
         
ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๒๒๕ ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ๗๕ กิโลเมตร  เป็นที่แวะพักผ่อนระหว่างเดินทาง  มีร้านอาหารของชาวบ้านและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว


 

ศูนย์รวมไม้ดัดบ้านแข้ 
         
อยู่บนทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ๗๖ กิโลเมตร หรือก่อนถึงอำเภอภูเขียวประมาณ ๑ กิโลเมตร สองข้างทางจะเป็นแหล่งจำหน่ายไม้ดัด รูปร่างลักษณะต่าง ๆ มากมายหลายขนาด เหมาะที่จะนำไปปลูกตกแต่งสวน การทำไม้ดัดเป็นอาชีพของชาวบ้านแข้โดยเฉพาะ โดยนำไม้ประเภทข่อย มะสัง ตะโกที่มีอยู่มากในบริเวณนี้มาดัดและตัดแต่งให้เป็นรูปทรงที่สวยงาม และจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา

พระธาตุหนองสามหมื่น  
         
ตั้งอยู่บ้านแก้ง  เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและน่าสนใจมากแห่งหนึ่งของชัยภูมิ  พระธาตุหนองสามหมื่น เรียกชื่อตามหนองน้ำ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด เป็นพระธาตุที่มีลักษณะสวยงาม และสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ปรากฏเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างศิลปล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาว
          พระธาตุหนองสามหมื่นมีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความสูงประมาณ ๔๕ เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน เหนือฐานเขียงเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์พระธาตุ ซึ่งมีซุ้มทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง และปางลีลา ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รูปแบบดังกล่าวอาจเปรียบเทียบได้กับพระธาตุอื่นๆ ทั้งในนครเวียงจันทน์และในเขตไทย เช่น พระธาตุวัดเทพพล เมืองเวียงคุก จังหวัดหนองคาย พระธาตุศรีเมือง นครเวียงจันทน์ เป็นต้น

เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม) 
          ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพระ สร้างปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว ตัวสันเขื่อนยาว ๗๐๐ เมตร ความสูงจากฐานราก ๗๐ เมตร เป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.)  
โดยใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและยังอำนวยประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม นอกจากนี้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย
         
บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์ที่งดงาม อากาศเย็นสบายตลอดปี จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ภายในบริเวณเขื่อนมีบ้านพัก ร้านอาหารไว้รับรองนักท่องเที่ยว เรือสำหรับให้ล่องชมอ่างเก็บน้ำ มีจุดชมวิวทิวทัศน์เหนือเขื่อน ศูนย์ทดลองพืชเมืองหนาว และหอดูดาว ติดต่อบ้านพักรับรองของ กฟผ. โทร๐ ๔๔๘๖ ๑๖๖๘-๙, ๐๔๓๓๘ ๔๙๖๙ ต่อ ๒๒๘๗ บ้านพักสถานีทดลองและฝึกอบรมเขื่อนจุฬาภรณ์ (ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น) โทร. ๐ ๔๓๒๐ ๒๓๖๕

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
         
มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าในเขตอำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ และหนองบัวแดง ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์สัตว์ป่า เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง เก้ง กวางและเนื้อทราย เป็นต้นโดยปล่อยสัตว์ให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ สามารถสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ได้เอง ได้มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับผู้สนใจศึกษาธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
         
ทุ่งกระมัง  เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว แหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์กินพืช  มีเนื้อที่ ๑,๕๐๐ ไร่ เมื่อปี พ.. ๒๕๒๖ และ พ.. ๒๕๓๕โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ปล่อยสัตว์ป่าคืนถิ่นในบริเวณนี้ เช่น เก้ง กวาง กระจง และนกต่างๆ มีการจัดทำดินโป่งในบริเวณทุ่งกะมังเพื่อให้สัตว์มากินดินโป่งและเผาแปลงทุ่งหญ้าเพื่อให้เกิดหญ้าระบัดเป็นอาหารของเก้ง กวางในช่วงฤดูแล้ง  บนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมัง มีพระตำหนักที่ประทับอยู่เหนืออ่างน้ำ ทุ่งกระมังเปิดให้เข้าชมเวลา ๐๘.๐๐–๑๕.๐๐ น. และจะไม่เปิดให้เข้าทัศนศึกษาตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมเป็นเวลา ๓ เดือน เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่อุดมไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า การเดินทางเข้ามาในพื้นที่ก็เสมือนการเข้ามารบกวนธรรมชาติ ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าจริง ๆ

 

 
 
 
 
 
 
 

Webmaster : wanleeya lomloi contract to : wanleeya lomloi@yahoo.com Tel :  06-7508678
copyright 2006 All right reserved