----------------------------------------------------------------------------
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดหนองบัวลำภู
วัดถ้ำกลองเพล
เป็นวัดป่าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด
ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน
เดิมสันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยขอมเข้ามาครอบครองแผ่นดินแห่งนี้
แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.ใด
ต่อมาเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.
๒๕๐๑ พระอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย
พระวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ
ได้อาศัยวัดแห่งนี้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน
โดยใช้พื้นที่ที่เกิดจากหมู่ก้อนหินขนาดใหญ่ ๓-๔
ก้อน มีหลืบและชะโงกหิน ก่อเป็นหลังคาคอนกรีตเชื่อมถึงกัน
ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่
สามารถจุคนได้หลายร้อยคน เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมจนกระทั่งมรณภาพเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๒๖
ภายในบริเวณวัดบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ มีเนื้อที่กว้างขวาง
ปกคลุมไปด้วยแมกไม้ ป่าเขียว
และสวนหินธรรมชาติรูปร่างประหลาดดูสวยงามกลาดเกลื่อนวัด
นอกจากนี้ยังมีถ้ำซึ่งภายในถ้ำประดิษฐานรูปปั้นของหลวงปู่ขาว
และกลองโบราณสองหน้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กลองเพล”
ตามซอกหินมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ประกอบด้วย
พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปัญฑรนิมิตร
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่จำหลักลงในก้อนหิน
และด้านหน้าของถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่
จากวัดถ้ำกลองเพลไม่ไกลนักมีถนนลาดยางลัดเลาะไปตามแนวป่า
และหมู่ก้อนหินรูปทรงแปลกๆ เป็นระยะทาง ๒ กิโลเมตร
ก็จะถึงอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ขาว
ศูนย์หัตถกรรมปั้นหม้อบ้านโค้งสวรรค์
ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภูไปทางจังหวัดอุดรธานีประมาณ ๑๗ กิโลเมตร
ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๐
เป็นหมู่บ้านที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม
พระอนุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์
เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพมาที่ตำบลหนองบัวลำภู
เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๗
เพื่อไปช่วยพระเจ้ากรุงหงสาวดี ที่กรุงศรีสัตตนาคนหุต (เมืองเวียงจันทน์)
เนื่องจากขณะนั้นไทยเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี
แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวร
พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงให้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะริมหนองบัว
หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ในวันที่ ๒๕ มกราคม-๓
กุมภาพันธ์
ของทุกปีทางจังหวัดจะจัดให้มีงานเฉลิมฉลองและมีพิธีถวายสักการะบวงสรวงดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้
ตั้งอยู่ริมถนนหนองบัวลำภู-อุดรธานี
ทางหลวงหมายเลข ๒๑๐ จากตัวเมืองไปทางจังหวัดอุดรธานี ประมาณ ๓ กิโลเมตร
เป็นสถานที่พักผ่อนร่มรื่นไปด้วยป่าไม้นานาพรรณ และโขดหินรูปต่างๆ
บริเวณใกล้เคียงมีศาลเจ้า “ปู่หลุบ”
ซึ่งเป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวหนองบัวลำภู และผู้ที่เดินทางผ่านไปมา
สุสานหอย ๑๕๐ ล้านปี
ลักษณะเป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงประมาณ ๕๐ เมตร พบซากหอยดึกดำบรรพ์ยุคจูราสสิค
มีอายุราว ๑๔๐–๑๕๐
ล้านปี เป็นรูปหอยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์จำนวนมาก
ภายในบริเวณใกล้เคียงยังพบซากกระดูกจระเข้โบราณ เศษหินจาไมก้าและแร่ธาตุบางชนิดอีกด้วย
ถ้ำเอราวัณ
เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีบันไดเรียงคดโค้งไปมา
จากเชิงเขาเบื้องล่างขึ้นสู่ปากถ้ำกว่า ๖๐๐ ขั้น มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่
อยู่บริเวณปากถ้ำ มองเห็นได้เด่นชัดจากระยะไกล
ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่
ที่เป็นสถานที่แห่งตำนานนิยายพื้นบ้านเรื่อง
“นางผมหอม”
มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ถ้ำเอราวัณตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๓
ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๐ สายหนองบัวลำภู-เลย
ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภูประมาณ ๔๕ กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปอีก
๒ กิโลเมตร
แหล่งโบราณคดีภูผายา
ตั้งอยู่ทางเหนือของบ้านนาเจริญ ตำบลดงมะไฟ
เป็นภูเขาหินปูนที่แยกตัวออกมาจากเทือกเขาภูพานมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏตามผนังถ้ำเป็นจำนวนหลายส่วน
ส่วนแรกบริเวณ “ถ้ำล่าง”
พบกลุ่มภาพเขียนสีแดงบนผนังถ้ำผิวเรียบยาวประมาณ ๕
เมตร ประกอบด้วยลวดลายเรขาคณิต ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ส่วนที่สองคือ
“ถ้ำบน”
พบภาพเขียนสีแดงกระจายอยู่เป็นกลุ่มๆ
ที่เห็นชัดเจนเป็นภาพสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภาพคน ภาพสัตว์เลื้อยคลาน
ภาพโครงร่างสัตว์ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นบริเวณถ้ำผายา
ยังมีสำนักสงฆ์อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านตั้งอยู่ด้วย
สันนิษฐานว่าภาพเขียนถ้ำภูผายามีอายุระหว่าง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐
ปี ใกล้เคียงกับอายุของภาพเขียนที่ค้นพบที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จังหวัดอุดรธานี ลักษณะภาพเขียนคล้ายคลึงกับที่พบที่ผาลาย มณฑลกวางสี
ประเทศจีน
แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บ้านกุดคอเมย
และบ้านกุดกวางสร้อย
เป็นแหล่งที่ขุดค้นพบสิ่งของเครื่องใช้ โบราณวัตถุ และศิลปะวัตถุ
ลักษณะของภาชนะเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกับวัฒนธรรมบ้านเชียง
แหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดดู่
บริเวณเชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันตก ส่วนแหล่งโบราณคดีบ้านกุดกวางสร้อย
ตั้งอยู่เชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก โบราณวัตถุประเภทเด่นๆ
ที่ชาวบ้านขุดพบเป็นจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งได้แก่
โครงกระดูกคน ภาชนะดินเผา กำไลสำริด กำไลหิน
แม่พิมพ์ทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก
ลูกปัดแก้ว เป็นต้น
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า
แหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่ง
มีวัฒนธรรมที่มีลักษณะเหมือนกันหรืออยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
โนนวัดป่า
เป็นโบราณสถานเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสัง
ห่างจากจังหวัดหนองบัวลำภูตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔๖ สายหนองบัวลำภู-อำเภอโนนสัง
ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ที่โนนวัดป่านี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดเก่า
ทั้งนี้เนื่องจากขุดพบพระพุทธรูปปางนาคปรกทำด้วยศิลา
และมีร่องรอยโบราณสถาน โบราณวัตถุอยู่รอบบริเวณนั้น
ตามหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่าเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะขอมสมัยเรืองอำนาจ