----------------------------------------------------------------------------
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดเลย
สวนสมเด็จศรีนครินทร์
ตั้งอยู่ในวิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก
ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๒ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๒๓๗ ไร่
ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง-ต่ำตามธรรมชาติ
มีลำห้วย ๒ สายคือ
ห้วยปูนใหญ่และห้วยปูนน้อยมาบรรจบกันตรงด้านทิศเหนือของสวนฯ
ภายในบริเวณสวนมีต้นลำดวนขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นดงใหญ่ เหมาะแก่การทัศนศึกษาในเชิงพฤกษศาสตร์
ต้นลำดวนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หอมนี้จะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของทุกปี
และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อ ศรีนครลำดวน ในอดีต
จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด
นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีสวนสัตว์
และสวนสาธารณะตกแต่งสวยงามร่มรื่นเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนทั่วไป
มีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
พระธาตุเรืองรอง
ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง
เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยการผสมศิลปะอีสานใต้สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว
ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว
พระธาตุมีความสูง ๔๙ เมตร แบ่งออกเป็น ๖ ชั้น ชั้นที่ ๑
ใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่ ๒-๓
เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่ ๔
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นที่ ๕ ใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่
๖
เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๓๗๓ (ศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย)
ประมาณ ๗.๕ กิโลเมตร
ปราสาทสระกำแพงน้อย
ตั้งอยู่วัดสระกำแพงน้อย บ้านกลาง ตำบลขยุง
ปราสาทวัดสระกำแพงน้อยประกอบด้วยปรางค์และวิหารก่อด้วยศิลาแลง
ด้านหน้าปรางค์มีสระน้ำใหญ่ ทั้งปรางค์ วิหาร และสระน้ำ
ล้วนล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง
เคยมีทับหลังประตูสลักเป็นพระวรุณเทพเจ้าแห่งฝนประทับบนแท่นมีหงส์แบก ๓
ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เป็นศิลปะแบบบาปวนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่
๑๖ สันนิษฐานว่าปราสาทหินแห่งนี้เดิมเป็นศาสนสถานมาก่อน
แล้วต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
อาจมีการบูรณะหรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่
สังเกตได้จากมีสถาปัตยกรรมแบบบายนอยู่ด้วย
สิ่งก่อสร้างดังกล่าวเรียกกันในสมัยนั้นว่า “อโรคยาศาล” หมายถึง
สถานพยาบาล หรือสุขศาลาประจำชุมชนนั่นเอง การเดินทาง
ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๘ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (สายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย)
อยู่ด้านขวามือ
ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ตั้งอยู่วัดสระกำแพงใหญ่
บ้านกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่
เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด
ลักษณะเป็นปรางค์ ๓ องค์บนฐานเดียวกันเรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย
มีอิฐแซมบางส่วน
มีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์อีก
๒ องค์ เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง
กรอบหน้าบันและกรอบเสาประตู ด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก
๑ องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ ๒ หลัง
ล้อมรอบด้วยระเบียงคดก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย
มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง ๔ ทิศ
ปราสาทห้วยทับทัน
หรือ ปราสาทบ้านปราสาท
ตั้งอยู่ที่วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท
เป็นโบราณสถานแบบขอมแห่งหนึ่งที่ถูกดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศีขรภูมิ
จังหวัดสุรินทร์
โดยเฉพาะส่วนหลังคาซึ่งคล้ายคลึงกันมากแต่มีขนาดสูงกว่าประกอบด้วยปรางค์อิฐ
๓ องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้
มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าเดิมมี ๓ หรือ
๔ ทิศ ปัจจุบันคงเหลือเพียงด้านทิศใต้เท่านั้น
ปรางค์องค์กลางขนาดใหญ่กว่าปรางค์อีก ๒
องค์ ที่ขนาบข้างเล็กน้อยแต่ส่วนหลังคาเตี้ยกว่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง
มีประตูเดียวด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีกรอบประตูหินทราย
และทับหลังติดอยู่เป็นภาพบุคคลยืนอยู่เหนือหน้ากาล
ส่วนท่อนพวงมาลัยมีลายมาแบ่งที่เสี้ยวภาพบุคคลยืนในซุ้มเรือนแก้ว
ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นผู้ใดด้วยลายสลักยังไม่แล้วเสร็จ
ปรางค์สององค์ที่ขนาบข้างขนาดเดียวกันได้รับการดัดแปลงรูปแบบไปมากโดยเฉพาะส่วนหลังคาและประตูซึ่งก่อทึบหมดทุกด้าน
ยังคงปรากฏกรอบประตูหินทราย
และชิ้นส่วนทับหลังสลักภาพการกวนเกษียรสมุทรตกอยู่หน้าประตูปรางค์องค์ที่อยู่ด้านทิศใต้
จากลักษณะทางด้านศิลปกรรมของทับหลังที่ปรากฏอาจสันนิษฐานได้ว่าปราสาทแห่งนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่
๑๖ ร่วมสมัยศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวนของเขมร
และต่อมาได้รับการดัดแปลงในสมัยหลัง
วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด)
ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาล
สิ่งปลูกสร้างภายในตกแต่งด้วยขวดแก้วหลากสีหลายแบบนับล้านใบที่ชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาค
เป็นวัดที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา โดยเฉพาะศาลาใหญ่ที่เรียกว่า ศาลาฐานสโม
มหาเจดีย์แก้ว และนอกจากนี้ยังมีสิม (โบสถ์)
อยู่กลางน้ำภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาว
ซึ่งมีความวิจิตรงดงามมาก การเดินทาง จากศรีสะเกษไปอำเภอขุนหาญใช้ทางหลวงหมายเลข
๒๑๑ และ ๒๑๑๑ ผ่านอำเภอพยุห์ อำเภอไพรบึงไปขุนหาญระยะทางประมาณ ๖๑
กิโลเมตร
ปราสาทตำหนักไทร (ปราสาททามจาน)
ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง
เป็นปราสาทอิฐหลังเดียวบนฐานศิลาทราย
ก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเข้าออกได้ด้านเดียว คือ
ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นด้านหน้า อีก ๓ ด้าน เป็นประตูหลอก คือ
สลักเป็นรูปบานประตูลงในเนื้ออิฐ บริเวณทางเข้ามีสิงห์จำหลักสองตัว
เฉพาะด้านหน้ากรอบประตูเป็นหินทราย
แต่เดิมเคยมีทับหลังเป็นภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
มีพระฉายาลักษมีนั่งอยู่ที่ปลายพระบาท และมีพระพรหมผุดมาจากพระนาภี
สองข้างพระพรหมเป็นรูปฤาษีและบุคคลนั่งในซุ้มเรือนแก้ว
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
ปราสาทตำหนักไทรเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๗ (ขุนหาญ-บ้านสำโรงเกียรติ)
ห่างจากอำเภอขุนหาญ ๒๐ กิโลเมตร
ห่างจากตัวจังหวัด ๘๑ กิโลเมตร
น้ำตกห้วยจันทร์ (น้ำตกกันทรอม)
มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด บริเวณภูเสลา
เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นมาตามชั้นหินก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูล
มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์
บริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๓๖ (กันทรอม-บ้านสำโรงเกียรติ)
ห่างจากอำเภอขุนหาญ ๒๔ กิโลเมตร
ห่างจากตัวจังหวัด ๘๕ กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐
ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๒ จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์
จังหวัดศรีสะเกษ กิ่งอำเภอน้ำขุ่น และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๘๓ ของประเทศไทยเมื่อวันที่
๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา
พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศได้แก่
หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น
ปราสาทเขาพระวิหาร
อยู่ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร
ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตราชอาณาจักรกัมพูชา
บริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย
ตัวปราสาทหันหน้ามาทางด้านที่ติดกับประเทศไทย
ปราสาทเขาพระวิหารเดิมอยู่ในความปกครองดูแลของไทย
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๓ แต่หลังจากการตัดสินของศาลโลก
ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของราชอาณาจักรกัมพูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดให้เข้าชมปราสาทเขาพระวิหารได้ที่ที่ว่าการอำเภอ
|